อาการไอ และมีเสมหะ เป็นหนึ่งในอาการป่วยยอดฮิตที่ลูกน้อยเป็นอยู่ประจำ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจรู้สึกกังวลใจเวลาที่ลูกน้อยไม่สบายและไม่รู้ว่าจะช่วยลูกเอาเสมหะนั้นออกมายังไง ยิ่งในเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกเองไม่ได้ ทำให้เสมหะนั้นค้างอยู่ วัฒนแพทย์จึงขอแนะนำวิธีที่ระบายเสมหะให้เจ้าตัวน้อย วิธีนั้นก็คือการ “เคาะปอด”
การเคาะปอด เป็นการใช้ฝ่ามือทำลักษณะเป็นอุ่ง แล้วเคาะไปบนบริเวณหลัง หรือหน้าอกเบาๆ เป็นจังหวะเพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือนผ่านผนังทรวงอกลงไปถึงแขนงหลอดลมและปอด มีผลทำให้เสมหะหลุดจากหลอดลม เป็นการกระตุ้นให้เจ้าตัวน้อย ไอ หรือระบายเสมหะออกมาได้ แต่ก่อนจะเคาะก็ต้องรู้ไว้ก่อนว่าควรจะเคาะก็ต่อเมื่อลูกมีอาการ ไอ มีเสมหะมาก หายใจเสียงดังครืดคราด และลูกยังไม่สามารถระบายเสมหะได้ด้วยตนเอง
การวางมือสำหรับท่าเคาะปอดทำมือในลักษณะเป็นอุ่ง นิ้ว ชี้ กลาง นาง ก้อย ชิดกัน |
อุ้มลูกให้หันหน้าเข้าหาอกคุณพ่อคุณแม่ ให้ศีรษะลูกพาดบนไหล่พ่อแม่หรือแนนลำตัวในเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตนั้นให้นั่งหันหน้าออกจาก พ่อแม่แล้วใช้หมอนหนุนไว้ที่หน้าอกโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วเคาะด้านหลังส่วนบนเหนือกระดูกสะบักขึ้นไป หลีกเลี่ยงการเคาะบริเวณกระดูกสะบัก
จัดท่านอนหงาย ให้ศรีษะหนุนหมอน ใช้ผ้าบางรองบริเวณหน้าอก เคาะบริเวณระดับไหปลาร้าถึงใต้ราวนม
จัดท่าให้ลูกนอนตะแคง ยกแขนลูกขึ้นไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วเคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง ต่ำจากรักแร้ลงมาเล็กน้อย
โดยในเวลาที่เคาะปอดในแต่ละท่า ให้หาผ้าบางๆ มาวางในตำแหน่งที่จะเคาะด้วยนะคะ จะได้ช่วยลดแรงกระแทกลงได้ ลูกจะได้ไม่เจ็บค่ะ และที่สำคัญก็มีข้อที่ควรระวังด้วยนะคะ ควรสังเกตอาการของลูกให้ดี เช่น ถ้าลูกเจ็บหรือปวดบริเวณที่เคาะ หรือมีประวัติการกระแทกที่หน้าอก มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำหายใจจมูกบาน ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ ให้หยุดก่อนนะคะ เพราะอาจเป็นอันตรายได้ และแนะนำเวลาเคาะให้ใช้อุ้งมือ ไม่ใช่ใช้ฝ่ามือเคาะ ต้องเคาะเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และใช้เวลาเคาะแต่ละท่านาน 1- 3 นาที ค่ะ ทั้งนี้การเคาะเป็น 1 ในวิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการให้ลูกน้อยจากเสมหะได้ แต่หากอาการป่วยของลูกน้อยไม่ทุเลาลง การไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะคะ