ทำไมซื้อยาทานเองน่ากลัวกว่าผี

ทำไมซื้อยาทานเองน่ากลัวกว่าผี



เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่สบายเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนคิดถึงก็คงเป็น ยา” และช่องทางการได้มาซึ่งยานั้นก็มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล หรือไปหาคุณเภสัชกรที่ร้านยา แต่วิธีที่กล่าวไปนั้นก็อาจจะต้องใช้เวลาและไม่ได้สะดวกสบายสำหรับทุกคนเสมอไป และบางครั้งอาจจะต้องเหนื่อยใจกับการขัดแย้งกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ให้บริการได้ไม่ถูกใจไปบ้าง บางคนจึงเลือกเข้าถึงยาโดยการ ซื้อยากินเอง” ไม่ว่าจะเป็นจากทางออนไลน์ จากโฆษณาต่าง ๆ จากร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร รวมถึงการซื้อยาตามคำบอกเล่าของเพื่อนหรือคนรู้จัก ในบทความนี้จะมาพูดถึงเหตุผล 3 ข้อ ที่คุณ ไม่ควรซื้อยากินเอง


1.วินิจฉัยไม่ถูกต้อง

การวินิจฉัยโรค จะต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และอาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ในกรณีที่เราวินิจฉัยตัวเราเอง เราก็จะรู้เพียงแต่ประวัติ ทำให้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อการวินิจฉัยไม่ถูกตั้งแต่แรกแล้ว การรักษาก็จะผิดและเกิดอันตรายขึ้นได้ 


2.กินยาไม่ครบ

การรักษาโรคแต่ละชนิดจะมีระยะในการรักษาที่ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากเป็นครั้งแรกในคนปกติ ต้องกินยาเพียง 3 วัน แต่ในกรณีกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เป็นซ้ำ อาจจะต้องกินยานานขึ้นเป็น 7 วัน เป็นต้น การรู้ข้อมูลไม่ครบแล้วซื้อหายามาเอง ก็อาจทำให้กินยาไม่ครบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาได้ 


3.กินยาผิด ข้อมูลที่ได้มาล้าสมัย

บางคนพอจะทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไร แต่ใช้วิธีค้นหาข้อมูลแล้วไปซื้อยากินเอง และอาจจะไปได้ข้อมูลเก่าที่ล้าสมัยไปแล้ว ทำให้ได้ยาที่ผิดจากที่ควรจะได้รับ กรณีที่เจอบ่อยๆ เช่น การรักษาโรคหนองใน ซึ่งมีการขายยาออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย โดยขายยาสูตรที่เลิกใช้กันไปแล้ว 20 กว่าปี ทำให้เมื่อรักษาไปแล้ว เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่ายขึ้นและไม่หายขาด การแพทย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราไม่ได้ติดตามต่อเนื่องอาจไม่ทราบข้อมูลครับ 


4.แพ้ยา

ในกรณีที่เราเคยแพ้ยามาก่อน เราจะทราบชื่อยาที่เราแพ้ และอาจคิดว่าเพียงหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนั้นก็เพียงพอ แต่ในความเป็นจริงยาบางชนิดมีการแพ้ในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น ในผู้แพ้เพนนิซิลิน อาจจะแพ้ยาอะม็อกซี่ซิลลินหรือไดคล๊อกซ่าซิลลินอันอยู่ในกลุ่มเดียวกันร่วมด้วย หรือในบางครั้งอาจจะมีโอกาสแพ้ยาข้ามกลุ่ม การซื้อยารับประทานเองโดยไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงสามารถเกิดการแพ้ยาซ้ำได้ 


5.ไม่ทราบข้อห้ามในการใช้ยา

เวลาแพทย์สั่งยา นอกจากจะต้องดูข้อบ่งใช้ในการใช้ยาหน้านั้นแล้ว ยังจะต้องพิจารณาตัวผู้ป่วยว่า มีการใช้ยาชนิดใดหรือมีโรคชนิดใดที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานั้นหรือไม่ เช่น ในผู้ป่วยตับแข็ง ที่มีการทำงานของไตไม่ดี ยาแก้ปวดธรรมดาๆ บางชนิดเพียง 1-2 เม็ด ก็สามารถทำให้เกิดภาวะไตวายรุนแรงได้ หรือผู้ป่วยไตวายอาจจะต้องระมัดระวังยาปรับความดันบางตัวที่ขับออกทางไต หากเราเลือกใช้ยาโดยเปิดอ่านจากอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือแบบไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน ก็อาจเลือกซื้อยาที่มีผลเสียต่อตัวเรามาใช้ได้ 


"อันตรายที่สุดของยาปฏิชีวนะคือการแพ้ยา อาการแพ้ยาที่พบผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด บางรายอาจเกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังถึงขั้นรุนแรงหรือที่เรียกว่า สตีเว้น จอนสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) ถ้าส่งแพทย์ทำการรักษาไม่ทันอาจอันตรายถึงเสียชีวิตได้  ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ใช้ยับยั้ง ฆ่า และหรือต้านทานเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน อาทิ ยากลุ่มเพนิซิลลิน ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ เตตราไซคลีน หรือยากลุ่มซัลฟา เป็นต้น หลักสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ต้องมีการคัดกรองประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย และต้องเลือกใช้ยาให้เหมาะสม ตรงกับชนิดของโรคที่จะรักษา เช่น กรณีที่ป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการปวดหัว ตัวร้อน น้ำมูกไหล และเจ็บคอ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าคออักเสบติดเชื้อ แล้วไปหาซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง แต่การกินยาแก้อักเสบนี้กลับเป็นการเพิ่มยาปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกายโดยเปล่าประโยชน์ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเองอย่างพร่ำเพรื่อ"