สังเกตให้ดี อาการเสี่ยงริดสีดวง

โรคริดสีดวงทวาร เกิดจากอะไร?

โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีการอักเสบ บวม และโป่งพอง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักพบในผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • ผู้ที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง โรคตับแข็ง
  • ผู้ที่ท้องเสียบ่อย
  • ผู้สูงอายุ
  • บุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร
  • สตรีมีครรภ์
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • ผู้ที่มีอุปนิสัยเบ่งอุจจาระ หรือชอบนั่งขับถ่ายเป็นระยะเวลานาน

อาการอย่างนี้..ใช่ ใช่มั้ย

ผู้ที่มีอาการคล้ายโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่

  • มีอาการคัน ระคายเคือง ปวด แดง หรือบวมบริเวณปากทวารหนัก
  • มีเลือดสดปนออกมากับอุจจาระ หรืออาจสังเกตเห็นเลือดบนกระดาษชำระเมื่อใช้ซับทำความสะอาดทวารหนัก หรือเห็นเลือดในโถชักโครก
  • มีก้อน หรือติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักขณะขับถ่าย
  • ในกรณีที่เป็นริดดวงทวารภายนอก จะคลำเจอก้อนเนื้อที่ทวารหนัก ส่งผลให้นั่ง หรือเดินไม่สะดวก
  • มีอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้
  • รู้สึกตุงบริเวณทวารหนัก

ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

หากเป็นอาการของริดสีดวงทวาร ในระยะแรกจะสามารถรักษาได้ด้วยยาทา อย่างไรก็ตาม หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

สนใจตรวจริดสีดวงทวาร เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจการตรวจริดสีดวงทวาร จากโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณได้เลย

1. โรคริดสีดวงทวารชนิดภายใน

ตัวหลอดเลือดที่โป่งพองจะอยู่บริเวณเหนือทวารหนักขึ้นไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็น หรือคลำหาเจอได้ และไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดหากยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

ความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวารชนิดภายใน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 การบวมมีขนาดน้อย เกิดขึ้นบนเยื่อบุภายในของทวารหนัก มักมองไม่เห็นจากภายนอก ขณะขับถ่ายจะมีเลือดสีแดงสดออกมา
  • ระยะที่ 2 การบวมมีขนาดใหญ่ขึ้น และอาจดันตัวออกมานอกทวารเวลาที่ถ่ายหนัก แต่จะหายกลับไปข้างในเมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายหนัก
  • ระยะที่ 3 มีก้อนเนื้ออ่อนๆ มากกว่า 1 ก้อนห้อยลงมาจากทวารหนัก และสามารถดันกลับเข้าข้างในได้
  • ระยะที่ 4 ก้อนขนาดใหญ่ห้อยลงมาจากทวารหนัก ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้

ระยะของริดสีดวง

โรคริดสีดวงทวารชนิดภายใน ระยะที่ 4 อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น

  • มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • มีน้ำเหลือง เมือก หรืออุจจาระหลุดออกมา ทำให้เกิดความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา
  • มีอาการคันที่ขอบปากทวารหนัก
  • มีการอักเสบ เน่า จนนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย
  • มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง

2. โรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอก

เกิดบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถเห็นและคลำเจอติ่งเนื้อที่ปกคลุมหลอดเลือดที่โป่งพองได้ และอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะเวลาขับถ่ายอุจจาระ โรคริดสีดวงทวารชนิดนี้ไม่มีการแบ่งระดับความรุนแรง


 

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร เป็นอย่างไร?

วิธีการวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารอาจแบ่งตามชนิดของริดสีดวง ดังนี้

  • โรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอก จะมีติ่งเนื้อยื่นออกมาให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว จึงสามารถตรวจได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์
  • โรคริดสีดวงชนิดภายใน แพทย์จะตรวจทวารหนักด้วยการสอดนิ้วเพื่อคลำหาความผิดปกติภายในทวารหนัก หรืออาจใช้เครื่องมือส่องกล้องพิเศษ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้น
  • ในผู้ที่อาการยังไม่ชัดเจน มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หรือผู้สูงอายุ จะเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ หรือใช้วิธีการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) เพื่อหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และวินิจฉัยโรคให้แน่ใจว่า ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ถ่ายเป็นเลือด หรือเกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร

แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร

วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวาร ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตเพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น เช่น เน้นรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระ
  • ใช้ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร ประกอบด้วย ยาทาภายนอก ยาเหน็บ และยาเม็ด ช่วยบรรเทาอาการ ทำให้การขับถ่ายคล่องขึ้น โดยหากใช้ครบ 1 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
  • รักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด ได้แก่ การใช้แบนดิง (Banding) การฉีดสารระคายเคืองเส้นเลือด และการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า
  • การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงทวารออก แพทย์จะใช้รักษาในผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ผู้ที่มีอาการโรคริดสีดวงภายในระยะที่ 3 และ 4 หรือมีลิ่มเลือด หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวง แบ่งเป็น การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก การเย็บผูกริดสีดวงทวาร และการใช้เครื่องมือตัดเย็บเยื่อบุลำไส้

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคแน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคได้มาก