นมแม่ แน่แค่ไหน ควรให้นานเท่าไหร่ดี

นมแม่ดีอย่างไร ควรให้นานแค่ให้ อยากเป็นคุณแม่สายให้นมต้องรู้


องค์การอนามัยโลกบอกไว้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์มากสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ โดยเฉพาะการได้ที่ลูกน้อยได้รับนมแม่ตั้งแต่ 1-3 วันแรกหลังคลอด เพราะนมในช่วงแรกนั้น คือน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


นมหยดแรก = วัคซีนหยดแรก

แลคโตเฟอร์ริน คือโปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย


นมน้ำแม่มี 3 ระยะ

น้ำนมแม่ ที่ร่างกายแม่ผลิตได้โดยตามธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ระยะด้วยกัน โดยไม่ว่าจะเป็นระยะใด ก็ตามล้วนดีต่อสุขภาพลูกทั้งสิ้น ได้แก่

  1. ระยะนมสีเหลือง (Colostrum)  เกิดใน 24-36 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

    น้ำนมจะมีสีเหลือง มีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลังมากประกอบไปด้วยโปรตีนต่างๆ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก

  2. ระยะนมปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) 

    เมื่อผ่านช่วง 5 วัน ถึง 2 สัปดาห์แรก น้ำนมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น  ซึ่งจะมีสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งไขมันและน้ำตาลที่มีปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

  3. ระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk)

    เมื่อผ่านช่วง 2 สัปดาห์แรกแล้ว น้ำนมแม่จะมีปริมาณที่มากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก ได้แก่

    1. โปรตีน ที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งจากเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
    2. ไขมัน ที่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ DHA (Docosahexaenoic Acid) และ AA (Arachidonic Acid) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
    3. น้ำตาลแลคโตส โดยพบว่าในนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น (Human Milk Oligosaccharides หรือ HMOs) มากกว่า 200 ชนิด และมีปริมาณมากกว่าปริมาณที่พบในนมวัวถึง 5 เท่า และยังพบอีกว่า HMOs ในน้ำนมแม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
    4. วิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น

    นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต



อยากให้นมลูก ให้ได้ถึงเมื่อไหร่

ประโยชน์ของนมแม่นั้นมากมาย เปรียบได้กับวัคซีนหยดแรก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยให้ลูกฟื้นตัวเร็วหากเจ็บป่วย มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนมแม่กับการเพิ่มของไอคิวลูกน้อย อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกผูกพันและปลอดภัยให้แก่ลูกน้อย

สำหรับตัวคุณแม่เอง การให้ลูกกินนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และเบาหวาน อีกทั้งช่วยให้ประหยัดค่านมผง ค่ารักษาพยาบาลของลูก (เพราะลูกเจ็บป่วยน้อยลง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น)

โดยองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังนี้

  1. ควรให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
  2. ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
  3. ควรให้นมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารเสริมที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเหมาะกับอายุ ตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า

โดยระยะเวลาของการกินนมแม่ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณแม่และลูก ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กที่จะกินนมแม่เป็นเวลานานๆ แม้ว่าเราจะเคยชินกับทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน เด็กโตอาจจะกินนมแม่ไม่บ่อยมากเหมือนเดิม และการหย่านมจากเต้าอาจจะใช้ระยะเวลายาวนาน เพราะเด็กผูกพันกับแม่ และรู้สึกมั่นคง อบอุ่นใจเมื่อได้อยู่ในอ้อมกอดแม่นั่นเอง



Working Mother คุณแม่สายทำงาน แต่ลูกก็ไม่ขาดนมแม่

ในช่วงเวลา 3 เดือนที่คุณแม่ลาคลอดเพื่ออยู่กับลูกและเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ลูกได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ แต่หลังจากนั้นคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน หากต้องการให้ลูกกินนมแม่ต่อ คุณแม่ต้องมีการเตรียมตัวกันนะคะ 

การเตรียมตัวก่อนไปทำงาน

  1. คุณแม่ควรเตรียมเก็บนมเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 1-2 โดยบีบหรือปั๊มนม เก็บ ตุนนมเป็นสต๊อคไว้ให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่เมื่อน้ำนมมาเต็มที่ คือช่วง 1-2 เดือนหลังคลอด

  2. บีบหรือปั๊มให้พอกิน ประมาณ 3-4 ออนซ์ต่อครั้ง

  3. ระยะ 2 สัปดาห์ก่อนกลับไปทำงาน นำน้ำนมที่แม่เก็บไว้มาฝึกให้ลูกกิน โดยใช้ช้อนหรือแก้วใบเล็กๆ เอียงป้อน หรือจะใช้ขวดนมก็ได้ ถ้าจะใช้ขวดนมป้อนลูก คุณแม่ควรฝึกหลังลูกอายุ1 เดือนไปแล้ว เพื่อป้องกันลูกสับสนกับเต้านมคุณแม่ เพราะถ้าฝึกให้เร็วกว่านี้ ลูกจะมีโอกาสติดหัวนมยาง จนไม่ยอมกินนมจากอกแม่

  4. คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าช่วงเช้าหลังตื่นนอนและก่อนออกไปทำงาน จากนั้นให้ดูดจากเต้าเมื่อแม่กลับถึงบ้านตอนเย็น และอีกครั้งตอนกลางคืน ทั้งนี้อาจปั๊มนมอีกข้างพร้อมกันไปด้วยเวลาลูกดูด หรือหลังจากดูดอิ่มแล้วเอาเก็บเข้าตู้เย็นไว้

  5. กำชับคนดูลูกว่า ระยะ 2-3 ชั่วโมงก่อนแม่จะกลับมาถึงบ้าน อย่าให้ลูกกินนมที่ปั๊มเก็บไว้ ให้รอกินจากเต้าแม่ เพื่อให้เต้านมยังคงผลิตน้ำนมได้ดี

ที่ทำงาน

  1. ช่วงเวลากลางวัน เมื่อแม่ต้องไปทำงาน อย่าลืมกำชับให้คนดูแลให้ป้อนนมแม่ที่บีบไว้

  2. ส่วนแม่ขณะที่ทำงาน เริ่มปั๊มหรือบีบน้ำนมทุกครั้งที่รู้สึกว่าเต้านมตึงคัด หรือในช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด เช่น ก่อนเริ่มงาน พักเที่ยง หรือบ่าย เลือกตามสะดวก และไม่ควรเว้นช่วงนานเกินไป เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง

  3. ควรเลือกสถานที่ปั๊มนมที่ปลอดภัย มิดชิด และเป็นมุมสงบ