เลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพยังไง ให้ใช่สำหรับคุณ

เทคนิคการเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพ...ที่ใช่สำหรับคุณ



ปัญหาเรื่องสุขภาพอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการช่วยหาสาเหตุของโรคหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้ถึงสภาพร่างกายว่าเป็นปกติดีหรือไม่ ซึ่งการตรวจสุขภาพแต่ละบุคคลมีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่แตกต่างกัน เมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกครั้ง แพทย์จะมีการตรวจร่างกายทั่วไปก่อนเสมอ เช่น ดูน้ำหนัก ความสูง ประเมินภาวะอ้วนและผอม ตรวจดูระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตลอดจนซักถามข้อมูลของผู้รับการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ประวัติของคนในครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อคัดกรองความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงของโรคเบื้องต้นได้


ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพ

  1. กลุ่มเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี)
  2. กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 18-60 ปี)
  3. กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป

การตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัยควรตรวจสุขภาพอย่างไร


กลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุ 0 – 18 ปี

  1. ตรวจเช็กสุขภาพทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ทุกครั้งที่มาตรวจพัฒนาการและรับการฉีดวัคซีนในวัยรุ่นควรเช็กด้วย BMI ด้วย
  2. ได้รับวัคซีนที่เหมาะสมตามช่วงวัย
  3. ตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ
    – ตรวจคัดกรองการได้ยินด้วยเครื่องมือ OAE ภายใน 6 เดือนหลังคลอด
    – ตรวจเลือด เพื่อค้นหาภาวะซีด ในทารกแรกเกิดและให้การดูแลรักษาภาวะซีดเพื่อป้องกันไม่ให้ IQ ต่ำ ช่วงอายุ 6 – 12 / 3 – 6 ปี / ช่วงวัยรุ่น (หญิง)
  4. ตรวจคัดกรองพัฒนาการ
    – ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก
    – ด้านการใช้ภาษาและการสื่อสาร
    – ด้านการช่วยเหลือตัวเองและการเข้าสังคม
    – ด้านสติปัญญาและจริยธรรม
  5. ค้นหาพฤติกรรมเสี่ยงตามวัย
    – การปล่อยปละละเลยจนเสี่ยงอันตราย
    – ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์
    – ปัญหาการเรียน ติดเกม เครียด
    – ปัญหาครอบครัว เรื่องเพศ ยาและสารเสพติด
  6. ส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นเพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสม
    – ดูแลช่องปากและฟัน

    – การมีโภชนาการที่ดีและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก

กลุ่มวัยทำงาน อายุ 18 – 60 ปี

  1. ตรวจรายการทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจสายตา อายุระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจวัดสายตา 1 ครั้ง
  3. การตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น
    – มะเร็งเต้านม อายุ 30 – 39 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ควรคลำเต้านมด้วยตนเอง หากมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
    – มะเร็งปากมดลูก อายุ 30 – 65 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี
    – มะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจอุจจาระทุกปี
  4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    – ตรวจหาภาวะซีด อายุ 18 – 60 ควรตรวจหาภาวะซีด 1 ครั้ง เพื่อให้การดูและรักษาที่เหมาะสม
    – ตรวจหาเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 3 ปี ถ้าตรวจเจอเร็วจะรักษาได้เร็ว ป้องกัน และชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
    – ตรวจหาไขมันในเลือด อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 5 ปี ช่วยคัดกรอง และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  5. แบบประเมินสภาวะสุขภาพของคนวัยทำงานที่จำเป็น สามารถคัดกรองได้ด้วยตนเอง หรือ บุคลากรสาธารณสุข โดยใช้แบบประเมิน ภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดบุหรี่ สุรา ยาและสารเสพติด เพื่อให้รับคำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม

กลุ่มวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจสายตา อายุ 60 – 64 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
    – ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
    – ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
    – ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
    – ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
    – ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
  4. ตรวจคัดกรองมะเร็ง
    – มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
    – มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี
    – มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี
  5. ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
    – ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
    – ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาติ
    – ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
    – ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
    – ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม