MIS-C คืออะไรทำไมอันตรายถึงชีวิด

MIS-C คืออะไร ทำไมอันตรายถึงชีวิต

MIS-C มักเกิดขึ้น 2-6 สัปดาห์หลังจากเด็กและวัยรุ่นหายป่วยจากโควิด-19 อายุเฉลี่ยของเด็กที่มีรายงานคือ 8 ปี นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผู้ป่วยอาจเริ่มจากมีระบบการหายใจผิดปกติ บางอาการเทียบเคียงได้กับภาวะหัวใจล้มเหลว และพบค่าการอักเสบสูง

Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) คืออะไร ?

Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) หรือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

อาการของโรค MIS-C ที่พบในเด็กหลังติดโควิด

อาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะ MIS-C ได้แก่

  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ตาแดง 
  •  ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • มีอาการช็อค ความดันต่ำ
  • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบ

เด็กที่หายป่วยจากโควิด มีโอกาสเป็น MIS-C มากน้อยแค่ไหน ?

จากรายงานมีโอกาสเกิด MIS C เพียง 0.14% ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิดทั้งหมด โอกาสในค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

ความรุนแรงของภาวะ MIS-C ส่งผลอย่างไรกับร่างกายบ้าง ?

ภาวะ MIS-C อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติในหลายระบบ ได้แก่

  1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
  2. ระบบทางเดินหายใจ : ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 
  3. ระบบทางเดินอาหาร : ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
  4. ผิวหนัง : ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
  5. ระบบประสาท : มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  6. ระบบเลือด : เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  7. ไต : ไตวายฉับพลัน

การป้องกัน และการดูแลรักษา

การดูแลรักษาผู้ป่วย MIS-C ในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต

จากรายงานส่วนใหญ่ ให้การรักษาโดยใช้แนวทางเช่นเดียวกับ การรักษา Kawasaki disease แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ หลักในการรักษา ประกอบด้วย

  1. การให้การรักษาแบบประคับประคอง
  2. การให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ 

ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ (พิจารณาจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เบื้องต้น) ควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป