โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1958 ช่วงการระบาดของโรคที่คล้ายไข้ทรพิษหรือ ฝีดาษ โดยพบในบริเวณที่เลี้ยงลิงไว้เพื่อการวิจัย ต่อมาในปีค.ศ.1970 ได้พบการระบาดเกิดขึ้นในมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  โดยเรียกว่าโรคฝีดาษลิงในคน (Human Monkeypox) ซึ่งระบาดอยู่เพียงประเทศในแถบแอฟริกากลางและตะวันตกเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อในคนอีกถึง  3 ครั้ง

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสเสียชีวิตระหว่าง 1 – 10% โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มอายุน้อย

อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก อาการของโรคจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
  • หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต

กลุ่มเสี่ยงที่จะรับเชื้อโรคฝีดาษลิง

สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่เคยมีประวัติการพบโรคดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในประเทศที่ไม่มีประวัติการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบันการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ในประเทศกลุ่มเสี่ยง อาจมีโอกาสติดเชื้อและนำกลับมายังประเทศได้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงคือ แรงงานต่างชาติ หรือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศที่มีการติดเชื้อ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศที่เสี่ยงจะมีเชื้อไวรัสระบาด นักธุรกิจ ที่เดินทางไปหรือมาจากประเทศที่พบการติดเชื้อ

การป้องกัน โรคฝีดาษลิง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ 
  • ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด 
  • ถ้าพบผู้ป่วย ให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น
  • การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีด

วัคซีนควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

การรักษาโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา หรือ วัคซีนป้องกันเฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีด วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ 85%

อ้างอิง : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, กรมควบคุมโรค