เคืองตาบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นาน

เคืองตาบ่อยๆ อย่าปล่อยไว้นานอาจเป็น ต้อเนื้อ

เป็นโรคต้อชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะให้ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งวัย 40 ปีขึ้นไป โรคต้ออาจไม่ได้มีผลกับการมองเห็นหรือการใช้ชีวิตอะไร เพียงแต่ทำให้รู้สึกรำคาญได้มากจากการระคายเคืองบริเวณที่เป็นต้อ

แต่โรคต้อก็ไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้อาจจะทำให้ตามัว สายตาเอียง หรือสูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราวได้


ต้อเนื้อ (Pterygium) คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา

เป็นหนึ่งในโรคต้อทั้ง 4 โรค ซึ่งได้แก่ ต้อเนื้อ ต้อลม ต้อหิน และต้อกระจก ต้อเนื้อเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และมีอายุมากกว่า 40 ปี ต้อเนื้อเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จนทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนพัฒนาอย่างผิดปกติ เกิดเป็นพังผืดสีขาวเหลืองหรือสีชมพูอ่อน รูปทรงสามเหลี่ยมปรากฎขึ้นบริเวณตาขาว เมื่อก้อนต้อขยายขึ้นเรื่อยๆจะค่อยๆงอกเข้าไปบริเวณตาดำจนบดบังการมองเห็น ทำให้มีโอกาสสูญเสียการมองเห็นชั่วคราวในที่สุด แต่ต้อเนื้อไม่ใช่โรคอันตรายอะไร เป็นโรคที่ทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น ทั้งยังรักษาให้หายขาดได้ และแม้จะเป็นมากจนก้อนต้อเข้าไปบดบังรูม่านตาจนสูญเสียการมองเห็น ก็ยังสามารถรักษาโดยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อให้กลับมามองเห็นได้ดังเดิม

ต้อเนื้อเกิดจากสาเหตุใด

ต้อเนื้อ เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ จนทำให้เกิดเป็นก้อนต้อ เมื่อก้อนต้อขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆจะกลายเป็นต้อเนื้อในที่สุดในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมคืออะไร แต่การแพทย์ปัจจุบันคาดว่าเกิดจากตัวกระตุ้นบางอย่าง เช่น ลมร้อน ลมแห้ง ฝุ่นควัน มลภาวะ และรังสียูวี โดยตัวกระตุ้นดังกล่าวจะไปรบกวนเซลล์ต้นกำเนิด เมื่อเซลล์ต้นกำเนิดถูกรบกวนจะทำให้เซลล์นั้นพัฒนาเป็นเยื่อบุตาขาวที่ผิดปกติ เกิดเป็นก้อนต้อที่ดวงตา หากดวงตาได้รับตัวกระตุ้นดังกล่าวเรื่อยๆเซลล์ต้นกำเนิดก็จะถูกรบกวนเรื่อยๆ จากก้อนต้อลมเล็กๆ ก็จะขยายตัวขึ้นจนเกิดเป็นพังผืดต้อเนื้อนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดต้อเนื้อ

  • 1.ดวงตาสัมผัสกับฝุ่นควัน มลภาวะ ลมร้อน ลมแห้ง รังสียูวี มากกว่าปกติ
  • 2.ใช้สายตามากเกินไป เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน
  • 3.ดวงตาสัมผัสกับสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน
  • 4.ดวงตาแห้ง ระคายเคืองบ่อยอยู่ก่อนแล้ว
  • 5.คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อเนื้อ
  • 6.เป็นโรคเบาหวาน

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยต้อเนื้อควรพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติอื่นนอกจากการระคายเคือง เช่น เริ่มสายตาเอียง ภาพมัว หรือสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากต้อเนื้อเริ่มยื่นเข้าไปในตาดำจบบังรูม่านตา หรือหากสายตายังปกติ แต่ดวงตาอักเสบบ่อยครั้ง เจ็บตาจนทนไม่ไหว มีปัญหากับการใช้ชีวิต ก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาให้หายขาด ป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดตามมาจากการขยี้ตาหรือตาอักเสบทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ควรพบแพทย์คือช่วงเวลาที่รับรู้ว่าตนเองอาจจะเป็นต้อเนื้อ หากมีอาการของโรค หรือสังเกตุเห็นก้อนต้อที่ดวงตาก็สามารถพบแพทย์ได้เลย เพื่อทำการรักษาก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไป

วิธีรักษาโรคต้อเนื้อ

วิธีรักษาต้อเนื้อ มีด้วยกัน 2 วิธี คือการใช้ยารักษาต้อเนื้อ และการผ่าตัดต้อเนื้อ
 

รักษาต้อเนื้อด้วยการใช้ยา

การรักษาต้อเนื้อด้วยยาหยอดตาต้อเนื้อ เป็นเพียงการลดการระคายเคืองที่ดวงตาด้วยการใช้ขี้ผึ้งหรือน้ำตาเทียม หรือรักษาโดยการควบคุมการอักเสบด้วยยาหยอดตาสเตียรอยด์เท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดตารักษาต้อเนื้อใดที่สามารถทำให้ก้อนพังผืดต้อเนื้อหายไปได้ การรักษาต้อเนื้อโดยการใช้ยาจึงไม่สามารถรักษาต้อเนื้อให้หายขาดได้ เป็นเพียงการทำให้อาการระคายเคืองดีขึ้นเท่านั้น 

ผ่าตัดรักษาต้อเนื้อ

การผ่าตัดรักษาต้อเนื้อหรือการลอกต้อเนื้อ คือการผ่าตัดเพื่อนำก้อนต้อออกจากดวงตา เป็นวิธีการรักษาต้อเนื้อเพียงวิธีเดียวที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดรักษาต้อเนื้อมีด้วยกันทั้งหมด 2 วิธี คือ

1. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อเอาต้อเนื้อที่เป็นเยื่อบุตาขาวส่วนที่ผิดปกติออกไปและไม่ได้มีการเย็บเยื่อบุตาขาวส่วนอื่นๆให้ติดกัน การผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว และถึงแม้จะไม่มีการเย็บปิดแผล ร่างกายก็ยังคงสร้างเยื่อบุตาขาวขึ้นมาแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปได้อยู่ดี ส่วนข้อเสียของวิธีการนี้คือมีโอกาสที่เนื้อเยื่อที่งอกขึ้นใหม่จะกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำได้มากถึง 40 - 50% เลยทีเดียว

2. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ

การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ เป็นการผ่าตัดเอาต้อเนื้อออก โดยแพทย์จะนำเยื่อบุตาขาวในส่วนอื่นๆมาเย็บปิดที่แผล หรือนำเนื้อเยื่อรกมาปลูกถ่ายลงไปแทนที่ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำ และทำให้แผลจากการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น ข้อดีของการผ่าตัดพร้อมปลูกเนื้อเยื่อคือ ความเสี่ยงที่ต้อเนื้อจะเกิดซ้ำลดลงเหลือเพียง 5 - 10% เท่านั้น อีกทั้งแผลจากการผ่าตัดจะหายเร็วกว่า ส่วนข้อเสียคือหลังผ่าตัดผู้เข้ารับการรักษาจะรู้สึกระคายเคืองมากกว่าแบบแรก เนื่องจากไหมเย็บเยื่อบุตาขาวก่อให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองได้มากนั่นเอง