ท้องผูกบ่อยๆอาจไม่ใช่แค่ไม่ทานผัก
ท้องผูกบ่อยๆอาจไม่ใช่แค่ไม่ทานผัก
ท้องผูกเรื้อรัง มะเร็ง อาการและสาเหตุ
แม้อาการท้องผูกจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่หากละเลยจนท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น แผลในลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น ตลอดจนบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็งและแห้ง ใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ และเมื่อถ่ายเสร็จแล้วยังรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุด สาเหตุของอาการท้องผูก ได้แก่
- 1.ความเครียด
- 2.การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ
- 3.ดื่มน้ำน้อย
- 4.ขาดการออกกำลังกาย
- 5.เคยชินกับการรับประทานยาระบายหรือสวนอุจจาระเองบ่อยๆ
- 6.ชอบกลั้นอุจจาระ
- 7.อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาลดกรด และยาลดความดัน
- 8.โรคประจำตัวบางโรคที่ส่งผลต่อการขับถ่าย เช่น เบาหวาน พากินสัน เส้นเลือดในสมองตีบ
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
สำหรับผู้ที่ถ่ายอุจจาระยากหรือ มีอาการท้องผูกเป็นประจำ หากมีลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปควรรีบพบแพทย์ทันที โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น
- 1.หากอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายเป็นเลือด มีลักษณะ สี หรือขนาดเปลี่ยนไป ขณะขับถ่ายมีเลือดออกทางทวารหนัก
- 2.ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นจากปกติ
- 3.คลำพบก้อนในช่องท้อง
- 4.รู้สึกปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
- 5.น้ำหนักลดโดยไม่ทราบเหตุ
- 6.มีภาวะซีด อ่อนเพลีย
- 7.ปวดท้องอย่างรุนแรง แต่ไม่ถ่ายอุจจาระ หรือไม่ผายลม
อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาหารป้องกัน ท้องผูก
- 1.ข้าวกล้องและธัญพืช อุดมด้วยใยอาหาร ช่วยบำรุงร่างกายและช่วยแก้ปัญหาการขับถ่าย
- 2.ผลไม้ต่างๆ ที่ไม่หวานจัด โดยเฉพาะมะละกอสุก นอกจากมีกากใยและน้ำ ยังอุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์กับระบบทางเดินอาหาร
- 3.ผักใบเขียว เช่น กุยช่าย ผักโขม มีกากใยสูง ช่วยย่อยอาหาร และบำรุงร่างกาย
การปรับอาหารและเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายให้เหมาะสมอาจช่วยแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งตาม American Cancer Society กำหนดช่วงอายุที่ควรเข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ที่ 45 ปี หรือหากมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ก็สามารถเข้ารับการตรวจก่อนอายุ 45 ปีได้ โดยวิธีการตรวจคัดกรองที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่