ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองให้การฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาโรคแขนงหนึ่งและยังมีหลายงานวิจัยพบว่า การฝังเข็มให้ผลการรักษาโดดเด่นกับกลุ่มอาการและโรคหลายๆ โรค เช่น กลุ่มอาการปวดต่างๆ โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคทางสูตินารีเวช เป็นต้น การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรือ มากกว่าการใช้ยา โดยปลอดภัย และ ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน บริเวณต่างๆ ทั่วร่างกาย มีพลังงานไม่เท่ากัน (ภาษาจีนเรียกพลังงานไหลเวียนนี้ว่า ‘ชี่’) การฝังเข็มจะเป็นการใช้เข็มฝังบริเวณที่เป็นเส้นลมปรานของร่างกายเป็นการช่วยกระตุ้นลมปราณ (ชี่) และเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยระบายเลือดที่คั่งเนื่องจากการไหลเวียนไม่ดี ระบายความร้อน หรือสารพิษ เป็นการบำรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับเข้าสู่สมดุล
การรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และพื้นฐานร่างกายของผู้ป่วยเอง โดยทั่วไปฝังเข็มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ หรือทั้งหมด 10 ครั้ง ภายใน 1 เดือน ตามแต่ความรุนแรงของอาการ บางครั้งจะต้องมีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สมุนไพรจีน การครอบแก้ว หรือการนวดกดจุด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยลง
ขอบคุณคำตอบดีๆจาก : นพ.วีระชัย ตรีรัตน์พันธุ์
ศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง