กว่า 80% ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด ยังคงมีอาการลองโควิดซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าทำลายลึกระดับเซลล์ การตรวจสุขภาพหลังหายจากโควิด เพื่อเช็กร่องรอยความเสียหายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญดังนี้
หลังหายป่วยโควิด หลายคนมักกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินหายใจ จนอาจลืมไปว่า “ระบบเลือด” เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญ เพราะไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย...และเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส ซึ่งการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ Complete Blood Count (CBC) เป็นการตรวจปริมาณและลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ที่ไม่เพียงใช้ในการตรวจวินิจฉัยระดับความรุนแรงของโรคโควิด แต่ยังช่วยประเมินได้ว่า ผู้ป่วยต้องฟื้นฟูร่างกายอย่างไรหลังหายจากโควิด
เพราะเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ “เบต้าเซลล์” หรือเซลล์ที่พบในกลุ่มของเซลล์ในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตและหลั่งอินซูลินเกิดความเสียหาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหรือกลูโคสสูงขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว
แม้แต่ในผู้ป่วยโควิดที่เชื้อลงปอด อาการป่วยระดับรุนแรง ที่ผลจากการทดลองพบว่ายาสเตียรอยด์ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและใช้ออกซิเจนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ยาสเตียรอยด์ก็อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นด้วย
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น “ตับ” จะถูกกระตุ้นให้ทำการผลิตคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับลดประสิทธิภาพในการกำจัดคอเลสเตอรอลลงด้วย เพราะฉะนั้นหลังจากการรักษาการติดเชื้อโควิด 19 แล้ว ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเช็กระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
จากผลการศึกษาพบว่า อาการลองโควิดในผู้ที่เคยติดโควิดนั้นมีมากกว่า 50 อาการ โดยกว่า 44% ของผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดจะมีอาการปวดศีรษะ 16% มีปัญหาเรื่องความจำที่ลดลง 12% มีอาการคล้ายภาวะซึมเศร้า รวมถึงอีกกว่า 11% พบมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ การเข้ารับการตรวจเช็กฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ของระบบประสาทและสมองหลังหายจากโควิด จึงเป็นลิสต์รายการที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม
เพราะบริเวณปอดหรือทรวงอก เป็นจุดที่มักได้รับความเสียหายหลังร่างกายติดเชื้อโควิด เนื่องจาก Receptor หรือตัวรับที่ไวรัสเข้ายึดเกาะเพื่อแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนมากจะอยู่ตรงบริเวณผิวเซลล์ปอดของมนุษย์ การตรวจ CT-Scan และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ของปอดหลังหายจากโควิดประมาณ 3-6 เดือน จะช่วยให้รู้ถึงร่องรอยความเสียหายที่ยังคงอยู่ รวมถึงปรับแผนการฟื้นฟูสุขภาพปอดได้ทันก่อนส่งผลกระทบระยะยาว
Receptor ที่เชื้อไวรัสโควิดเข้ายึดเกาะไม่ได้มีอยู่แค่ที่ปอดและหัวใจ แต่ “ไต” ก็เป็นอีกอวัยวะที่อาจได้รับความเสียหาย โดย Dr. Al-Aly ศาสตราจารย์โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันเซนต์หลุยส์ ได้กล่าวว่า หลังผู้ป่วยหายจากโควิด...อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไตในช่วงเดือนแรก เนื่องจากการติดเชื้อส่งผลต่อการทำงานของไตที่ลดลง และอาจลุกลามนำไปสู่การเกิดไตวายเฉียบพลันได้
จากข้อมูลของ UC Davis Health ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือดในอเมริกา พบว่าผู้ป่วยประมาณ 20-30% ที่เข้ารับการรักษาโควิด 19 ประสบปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบ หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันพยายามต่อสู้เชื้อไวรัส และกระตุ้นหลั่งสารไซโตไคน์ออกมามากเกินไป เมื่อโปรตีน ACE2 ที่เคลือบผิวเซลล์ กำลังถูกเชื้อไวรัสเข้าแทรกแซงและไม่สามารถปกป้องเซลล์หัวใจได้ สารภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นผู้ร้ายเข้าทำลายหัวใจซะเอง ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่าง “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ได้
วิตามินดีไม่ได้แค่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ แต่จากผลการศึกษาพบว่า วิตามินดีมีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติของวิตามินดีที่มีช่วยในการซัพพอร์ตการทำงานระบบประสาทและสมอง การทำงานของปอด รวมถึงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
C-Reactive Protein (hsCRP) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากตับเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย โดยสารเคมีชนิดนี้จะจับเข้ากับเซลล์ที่ตายแล้ว หรือเซลล์ที่เสียหายรุนแรงและกำลังจะตาย ก่อนเข้าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อเสริมสร้างแมคโครฟาจ (macrophage) เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยกำจัดเซลล์ผิดปกติหรือสิ่งแปลกปลอม ทำให้การตรวจหาค่า C-Reactive Protein (hsCRP) ถูกนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยภาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งค่า CRP ที่สูงจะบอกได้ถึงประสิทธิภาพการฟื้นฟูของร่างกายหลังการติดเชื้อที่ไม่ดีเท่าที่ควร
ตรวจหาสารบ่งชี้ของการเกิดหลอดเลือดอุดตัน D-Dimer (FDP)
เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อรุนแรง จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนเลือดเป็นลิ่มเลือด หรือเรียกว่า “การแข็งตัวของเลือด” เพื่อยับยั้งการไหลของเลือด ซึ่งถ้ากลไกดังกล่าวถูกกระตุ้นมากจนผิดปกติ และเคลื่อนตัวเข้าไปอุดตันในหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด อาจส่งผลให้อวัยวะที่เชื่อมกับหลอดเลือดส่วนนั้นๆ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ได้ ซึ่งการตรวจ D-dimer จะช่วยให้สามารถประเมินได้ว่ามีการสร้างและสลายลิ่มเลือดในร่างกายหรือไม่ โดยค่านี้จะถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยหาภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด
การตรวจระดับภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าหลังการฉีดวัคซีนหรือหลังเคยติดเชื้อโควิด สามารถแบ่งการตรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ การตรวจภูมิตอบสนอง หรือการตรวจ antibody ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อจับกับ spike protein ของเชื้อไวรัส และการตรวจความต้านทาน เป็นการตรวจความสามารถในการยับยั้งหรือลบล้างฤทธิ์ของไวรัส ซึ่งระดับ antibody และความต้านทานที่สูงไม่ได้แปลว่าคนๆ นั้นจะไม่เกิดการติดเชื้ออีก เพียงแต่ช่วยลดโอกาสการป่วยหนักรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด 19
จากผลสำรวจที่พบว่า อาการลองโควิดในผู้ป่วยนั้นมีมากกว่า 50 อาการ การตรวจสุขภาพจึงไม่ใช่แค่เพื่อค้นหาความเสียหายที่ยังหลงเหลือ แต่ช่วยให้รู้ถึงแนวทางในการฟื้นฟูที่เหมาะสมสำหรับบุคคลนั้น พร้อมทั้งการเช็กอัพซ้ำเพื่อมอนิเตอร์ตลอดระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟู ยังเป็นการช่วยเสริมสุขภาพให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงในเร็ววันได้