เมนูแนะนำ เมื่อลูกน้อยเป็นโรค มือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) 

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 ซึ่งโรคนี้มักพบได้ในวัยทารกและเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตามสามารถพบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน อาการแสดงที่พบ ได้แก่ ไข้ เบื่ออาหาร เจ็บคอ อ่อนเพลีย 1-2 วันหลังจากที่ผู้ป่วยมีไข้ จะเริ่มมีแผลหรือเจ็บบริเวณปากหรือในปาก (ซึ่งเรียกว่าโรค Herpangina) และจะมีผื่นลักษณะคล้ายจุดขนาดเล็กสีแดงบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบในลักษณะตุ่มพองเกิดขึ้นได้ ในกรณีเด็กเล็กบางคนสามารถพบภาวะขาดสารน้ำ/สารอาหารร่วมด้วย เนื่องจากมีอาการเจ็บบริเวณแผลในปากจึงทำให้สามารถรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้ได้รับสารน้ำ/สารอาหารไม่เพียงพอ

 


 

การแพร่กระจายเชื้อ

การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง สามารถแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า ระยะฟักตัว 3-6 วัน

 

การรักษา

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะและให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ หากเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด

 

การป้องกันโรค

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ (ก่อนและหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภาย หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดมือ) และใช้ช้อนกลาง

 

วิธีการควบคุมโรค

หากพบเด็กป่วยต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้าง สรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก/ปากเวลาไอ จาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระด้วย

 

โภชนาการสำหรับโรคมือเท้าปาก

อาหารในช่วงวัยระหว่าง 1-6 ปี หรือวัยก่อนเรียน มีความสำคัญจะช่วยให้ร่างกายเด็กเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่และหลากหลาย อาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ และอย่าลืมให้เด็กดื่มนมวันละ 2-3 แก้วด้วย 

ปัญหาโภชนาส่วนใหญ่ในเด็กที่เกิดโรคมือเท้าปาก คือ กินอาหารได้น้อยลงจากการมีแผลในปาก หรือ เบื่ออาหาร ทำให้เด็กอาจขาดสารอาหารได้ หลักการสำคัญ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 

 


 

หลักการเลือกอาหาร

  • 1. เลือกเมนูอาหารอ่อน ลักษณะคือ เคี้ยวง่าย ไม่แข็ง ไม่มีกากใยมาก ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้บดละเอียดหยาบ ถ้าเป็นผัก ให้ต้มหรือลวก ถ้าเป็นผลไม้ ให้เลือกที่ผิวอ่อนนุ่ม เช่น มะละกอ มะม่วงสุก และส้มเขียวหวาน เป็นต้น ตัวอย่างอาหาร เช่น ข้าวต้มหมูสับใส่ไข่ ข้าวต้มปลา ไข่ตุ่นกับข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหมูสับ ผัดวุ่นเส้น และผัดฟักทองใส่ไข่ เป็นต้น
  • 2. รับประทานอาหารที่สุก อุ่น สดใหม่ เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนมากับอาหาร
  • 3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว สับปะรด และเสาวรส เป็นต้น และจำพวกน้ำอัดลม โซดา เพราะฤทธิ์ของกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลบริเวณที่เกิดแผลได้ 
  • 4. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวดแผลบริเวณปากได้
  • 5. เลือกรับประทานของเย็นๆ ช่วยลดอาการปวด เจ็บบริเวณแผลได้ เช่น ไอศกรีมผลไม้ เชอร์เบท น้ำผลไม้ปั่นน้ำตาลน้อย และนมจืดเย็น เป็นต้น
  • 6. กรณีไม่มีไข้สูง หรือไอ สามารถดื่มน้ำเย็น ช่วยลดอาการปวด เจ็บบริเวณแผล และทำให้บริโภคอาหารได้เพิ่มขึ้น
  • 7. กลั้วปากด้วยน้ำอุ่นหลังรับประทานอาหารเสร็จ
  • 8. ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร

 


 

พลังงานที่ต้องการ 1,300 – 1,400 กิโลแคลอรีต่อวัน และโปรตีน 22 – 40 กรัมต่อวัน