กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยจะมีการนำ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 มาใช้ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้
กรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ และเข้ารับการรักษา
สำหรับการคัดกรองด้วย ATK ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ด้านหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ เน้นการคัดกรองด้วยอาการป่วย ไม่ใช่ ATK หากมีผู้ป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
ยืนยันว่า รักษาฟรีตามสิทธิของแต่ละบุคคล โดยครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย จนถึงยาที่ต้องใช้ โดยกรณีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน เช่น อาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนต่ำ ฯลฯ สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน ตามเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว-ชาวต่างชาติ ผู้มีประกันสามารถใช้สิทธิได้ฟรี ส่วนผู้ที่ไม่มีประกันต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งนี้ ฮอสพิเทล และ รพ.สนาม สิ้นกันยายนนี้จะยุติทั้งหมด แต่หากมีสถานการณ์เกิดขึ้นสามารถออกประกาศเพื่อรองรับได้
ส่วนการฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในสถานพยาบาลที่ คกก.โรคติดต่อจังหวัด หรือ คกก.โรคติดต่อ กทม.กำหนด โดยกลุ่ม 608 “ควร” ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 เดือน ได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันเรื่องจำนวนวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เหมาะสมในแต่ละปี
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แนะนำให้ดูแลตามดุลพินิจแพทย์ หากมีอาการแต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ-ปัจจัยเสี่ยง อาจให้ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน ส่วนโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดนั้นยังใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันความปลอดภัย หากมีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการหนักขึ้น มีปอดอักเสบเล็กน้อย แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ใช้เรมเดสซิเวียร์ 3 วัน ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือแพกซ์โลวิด 5 วัน ตามการพิจารณาของแพทย์ กรณีอาการรุนแรง ให้เรมเดสซิเวียร์ 5-10 วัน หากอายุมากกว่า 12 ปีให้แพกซ์โลวิดได้ ตามดุลพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม สำหรับยาต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 นั้น จะยังไม่สามารถหาซื้อด้วยตนเองในร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ได้ เนื่องจากยากลุ่มนี้ผู้ผลิตยังจดทะเบียนในลักษณะของการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิฟรี ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม โดยเป็นการดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ รายละเอียดมีดังนี้
ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะไม่ครอบคลุมสิทธิ UCEP Plus แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนได้
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูล สอบถาม โทร. 0-2872-1669