ตื่นมาปัสสาวะบ่อยกลางคืน ร่างกายกำลังบอกอะไร?

กลางคืนตื่นมาปัสสาวะบ่อย ร่างกายกำลังบอกอะไร?

มะเร็งต่อมลูกหมาก ถูกจัดให้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในผู้ชายไทย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะของโรคที่มีการเติบโตอย่างช้าๆ และไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน หรือหากมีอาการก็จะมีลักษณะคล้ายกับอาการต่อมลูกมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้ถูกมองว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามวัย กว่าจะตรวจพบก็เป็นมากหรือลุกลามไปสู่อวัยวะสำคัญอื่นๆ ของร่างกาย

มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร

มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งเหล่านั้นจะสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหายและถูกทำลายในที่สุด

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ได้ แต่จากสถิติพบว่า มะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดกับผู้ชายที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และพบมากในชายผิวขาวชาวตะวันตก จึงสันนิษฐานได้ว่าสาเหตุของโรคนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรมและพฤติกรรมการกินอาหาร โดยผู้ชายที่สมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนทั่วไป

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะไม่หมด
  • รู้สึกปวดเวลาปัสสาวะ หรือปวดเวลาที่หลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัว
  • มีเลือดปนในน้ำเชื้อ หรือปัสสาวะ

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด (PSA) เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารบ่งชี้มะเร็ง หากมีค่า PSA อยู่ในระดับ 0-4 ng/ml แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 1 ปี แต่หากมีค่า PSA ที่สูงกว่านั้น ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติม
  • การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Trans-rectal Ultrasound of the Prostate: TRUS) เป็นการตรวจที่ใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจลักษณะของต่อมลูกหมาก
  • การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) โดยแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

ใครบ้างที่ควรตรวจ

ผู้ชายทุกคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรเข้ารับการตรวจครั้งแรกเมื่ออายุ 45 ปี และควรตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

หากคุณมีอาการใดก็ตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าใด โอกาสที่จะรักษาหายก็มีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย