เปิดสถิติโรคมะเร็งในผู้หญิงและผู้ชายไทย ใครเสี่ยงมากกว่า มะเร็งอะไรพบมากที่สุด

โรคมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมาแล้วหลายชีวิต และยังมีอัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามาสรุปข้อมูลสถิติ จาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขมาให้อ่านกันนะคะ



มะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายในคนไทย

คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ วันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2561 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2562 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก 


แต่หากแบ่งออกตามเพศชายหรือหญิงจะพบว่า โรคมะเร็งที่พบในชายไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 173.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 16 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในชายไทยมากที่สุด ประกอบด้วย

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 33.2 ต่อประชากร 100,000 คน
  • มะเร็งปอด : 22.8 ต่อประชากร 100,000 คน
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 18.7 ต่อประชากร 100,000 คน
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก : 7.7 ต่อประชากร 100,000 คน
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : 6.6 ต่อประชากร 100,000 คน

ส่วนโรคมะเร็งที่พบในหญิงไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 159 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 15 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในหญิงไทยมากที่สุด ประกอบด้วย

  • มะเร็งเต้านม : 34.2
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 13.3
  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 12.2
  • มะเร็งปอด : 11.5
  • มะเร็งปากมดลูก : 11.1

สถิติป่วยมะเร็งปี 2563

ข้อมูลทะเบียนมะเร็ง ระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2563 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในสถาบันมะเร็งแห่งชาติแยกตามเขตบริการสุขภาพ พ.ศ. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 2,890 ราย ดังนี้

  • เขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง และลำพูน : 57 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ : 69 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 3 ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี : 78 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 4 ได้แก่ จังหวัดนครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง : 550 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 5 ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี : 476 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 6 ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว : 396 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด : 53 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ จังหวัดเลย นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี : 51 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ : 107 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี : 65 ราย 
  • เขตสุขภาพที่ 11 ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี : 57 ราย
  • เขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ จังหวัดตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง สงขลา ยะลา และสตูล : 17 ราย 

ส่วนจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 823 ราย พบที่เขตราษฎร์บูรณะมากที่สุด 36 ราย เป็นชาวต่างชาติ 63 ราย ไม่ทราบที่อยู่ 28 ราย


 

อายุเท่าไรควรตรวจมะเร็ง

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่แตกต่างกันแต่ละประเภท โดยมีมะเร็งที่เพศหญิง และเพศชาย ควรได้รับการตรวจคัดกรองตามช่วงอายุ ดังนี้

  • มะเร็งปาดมดลูก : เพศหญิง ควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี ขึ้นไป และตรวจทุก ๆ 3 ปี
  • มะเร็งเต้านม : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี
  • มะเร็งต่อลูกหมาก : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี แต่หากผู้ที่มีครอบครัวแล้วให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปี ในทุกปี และทุก 5 ปี หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ให้เริ่มตรวจที่อายุของญาติที่พบโรคลบด้วย 10 ปี โดยจะต้องเริ่มตรวจไม่ช้ากว่าอายุ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้หรือไม่ อายุ และที่สำคัญคือ สุขภาพของผู้ป่วย 


"มะเร็งไม่รอ ตรวจก่อน รู้ไว รักษาได้"