ตั้งครรภ์ตอนอายุ 35 ปีควรตรวจอะไรบ้าง

การเตรียมตัวสำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่กำลังอยากมีลูก

ควรตรวจร่างกายเมื่อมีแผนที่จะมีลูก

เมื่อคุณแม่มีอายุมากขึ้น ก็จะมีโอกาสที่จะมีโรคประจำตัวมากขึ้น ไม่ว่าเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอื่น ๆ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรตรวจร่างกาย หากพบความผิดปกติ จะได้ทำการรักษาก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือมีภาวะอ้วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์


ความเสี่ยงที่อาจะเกิดขึ้น

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มากกว่าคุณแม่อายุน้อย จึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษและเข้าตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ ตั้งแต่เดือนแรกจนถึงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด และหากคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากขึ้นยิ่งพบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนดสามารถทำได้โดยการวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด ซึ่งช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 50% 


การฝากครรภ์สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกได้

โดยแพทย์จะเริ่มจากการตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ จากนั้นจึงมีการตรวจเลือดและตรวจภายในเพื่อเช็คโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก  เอดส์ กามโรค ตับอักเสบ และคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย  เช่น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน การคลอดก่อนกำหนด รวมถึงภาวะดาวน์ซินโดรมในลูกน้อย

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษและเข้าตรวจตามคำแนะนำของแพทย์  ตั้งแต่เดือนแรกจนถึงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด


สิ่งที่คุณแม่อายุ 35+ ต้องได้รับการตรวจ

1. การตรวจคัดกรองโครโมโซม

สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดของแม่ เพื่อคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม โดยไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ แต่หากตรวจพบความเสี่ยงอาจต้องมีการเจาะน้ำคร่ำเพิ่มเติม 

2. ตรวจภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง

จากการศึกษาพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มักมีภาวะความดันโลหิตสูงและเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์อายุน้อย ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ตรวจหาภาวะน้ำตาลในเลือดในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเพิ่มขึ้นมากกว่ามาตรฐานนอกจากนี้การตรวจเลือดยังช่วยตรวจหาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี รวมถึงโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างมาก 

3. การตรวจภาวะแทรกซ้อนด้วยอัลตร้าซาวด์

เป็นการตรวจขั้นพื้นฐานเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจดูโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์ สามารถเห็นความผิดปกติของทารกได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า รวมถึงความผิดปกติของหัวใจ  ซึ่งต้องทำโดยสูติแพทย์เฉพาะทาง ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal Fetal Medicine – MFM) ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในการดูแลในดูแลในเชิงลึกเกี่ยวกับทางด้านทารกและมารดา ถ้าหากเกิดภาวะผิดปกติจะได้เตรียมทีมแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีหลังคลอด  ทั้งนี้บางกรณียังสามารถรักษาได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์

4. การตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด

ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากขึ้นยิ่งพบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น เนื่องจากอายุคุณแม่ขณะตั้งครรภ์มากส่งผลให้เกิดปัญหารกเกาะต่ำ หรือรกลอกก่อนคลอด รวมถึงทารกที่คลอดออกมาอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าทารกที่คลอดในคุณแม่ที่อายุน้อย การตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนดสามารถทำได้โดยการวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด (Transvaginal Cervical Length Measurement) ซึ่งช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 50%

5. ตรวจภาวะครรภ์เป็นพิษ

โดยการตรวจปัสสาวะคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อดูโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ภาวะดังกล่าวถือเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ หากไม่มีการตรวจพบหรือได้รับการรักษาที่ไม่ดีพอ อาจส่งผลให้คุณแม่หรือทารกเสียชีวิตได้  ปัจจุบันสามารถตรวจภาวะครรภ์เป็นพิษได้ก่อนในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ 6 วันซึ่งจะช่วยลดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ถึง 90% และยังสามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ถึง 70%  


เป็นที่รู้กันว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มากกว่าคุณแม่อายุน้อย ดังนั้นนอกจากการปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35+ ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ และเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมมากกว่าการตรวจขั้นพื้นฐาน การรู้ผลการตรวจแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น