เรื่องของตาอย่ามองข้าม อาการเริ่มต้นของการเป็นต้อ

อาการตามัว มองภาพไม่ชัด ที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุดูจะเป็นเรื่องปกติที่หลายๆ คนไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรเพราะคิดว่าท่านแก่แล้ว แต่ในความเป็นจริงอาการตามัวในผู้สูงอายุสามารถป้องกัน และรักษา ทำให้การมองเห็นกลับมาดีขึ้น หรือดีเหมือนเดิมได้ กลุ่มโรคที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันดี คือ กลุ่มโรคต้อ ประกอบด้วย ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น


 


ต้อลม (Pinguecula) และต้อเนื้อ (Pterygium)

เป็นกลุ่มโรคเดียวกัน เพราะต้อลมคือ ระยะเริ่มต้นของต้อเนื้อ ลักษณะของต้อลมคือ มีลักษณะนูนๆ สีขาว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชั้นใต้เยื่อตาขาว มักเกิดได้ทั้งบริเวณหัวตา และหางตา แต่ยังไม่ลุกลามเข้าไปที่ตาดำ แต่หากเป็นมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุตาจะลามเข้าไปในตาดำ จนกลายเป็นแผ่นเนื้อสีแดง เรียกว่าต้อเนื้อ โดยส่วนที่ยื่นเข้าไปในตาดำนั้นมักจะมีลักษณะคล้ายเนื้อ ซึ่งสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ และรังสีUV เป็นหลัก ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองเรื้อรังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น แสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต ฝุ่นละออง ควัน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรค จึงมักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด เช่น ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง นอกเหนือจากกลุ่มผู้สูงอายุวิธีการป้องกันง่ายๆ คือ หลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่นละออง ควัน สวมแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้จริง ปรึกษาจักษุแพทย์ เมื่อมีอาการเคืองตามากไม่ควรซื้อยาหยอดตาใช้เอง เพราะยาบางตัวอาจมีส่วนผสมที่อันตราย ผู้ที่เป็นต้อเนื้อซึ่งลุกลามเข้าไปบนกระจกตาขนาดพอสมควร ปิดบังการมองเห็น หรือทำให้การมองเห็นลดลง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด แต่ต้อเนื้อสามารถเป็นซ้ำได้อีกแม้จะผ่าตัดแล้ว ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันการเกิดโรคนั่นเอง


ต้อหิน (Glaucoma)

เป็นโรคตาเรื้อรังที่พบเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการสูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีอาการสูญเสียลานสายตาโดยเริ่มจากขอบนอกของลานสายตาก่อน และแคบเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดกึ่งกลาง จนกระทั่งสูญเสียลานสายตา จากสถิติปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วโลกถึง 70 ล้านคน ในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์ของโรค ประมาณ 5 - 3.8% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยประมาณ 1.7 - 2.4 ล้านคน มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องสูญเสียการมองเห็นทั้งหมด และตาบอดสนิท เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น เพราะโดยปกติโรคต้อหินจะไม่แสดงสัญญาณ หรืออาการบ่งชี้ใดๆ ในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวมักสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว สาเหตุการเกิดโรคต้อหินมีทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การหยอดยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรืออุบัติเหตุที่เกิดกับดวงตา และปัจจัยภายใน เช่น ความดันลูกตาสูง อายุที่มากขึ้น เชื้อชาติ ลักษณะของดวงตาของบุคคลนั้นๆ พันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีญาติใกล้ชิด เช่น พี่น้อง บิดา มารดาเป็นต้อหิน จะเห็นได้ว่าสาเหตุต่างๆ เกือบทั้งหมดนั้นเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย ยกเว้นเรื่องของความดันลูกตา เมื่อตรวจพบว่าเป็นต้อหินแล้ว ต้องใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาอย่างสม่ำเสมอ หรือการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตามดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรควิธีที่การป้องกันอาการต้อหินที่ดีที่สุดคือ ตรวจพบในระยะเริ่มแรก โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน


ต้อกระจก (Cataract)

เป็นโรคตาที่เป็นสาเหตุของการตาบอดมากที่สุดในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก แต่เป็นโรคที่รักษาได้ และให้ผลสำเร็จสูงหากทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามธรรมชาติ ทำให้เลนส์ขุ่น แสงจึงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือทำให้เกิดการหักเหแสงที่ผิดปกติไปโฟกัสผิดที่ ผู้ป่วยจึงมีสายตาพร่ามัว มักเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง แต่อาจมีความรุนแรงที่ไม่เท่ากันเกิดตามอายุที่มากขึ้น มักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบเร็วขึ้น คืออายุ 55 ปีก็เริ่มมีต้อกระจกแล้ว การรักษาต้อกระจกในปัจจุบันนับว่าทันสมัยมาก มีการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) มาสลายต้อกระจกผ่านแผลเล็กๆ 2-3 มิลลิเมตร เรียกว่าวิธี Phacoemulsification โดยที่ไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ทันทีในวันรุ่งขึ้น เพียงแต่ห้ามถูกน้ำ และห้ามขยี้ตาหนึ่งสัปดาห์ การผ่าตัดจะใช้แค่การหยอดยาชา หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ มีความปลอดภัยสูง และโอกาสการติดเชื้อต่ำ นอกจากนี้ เทคโนโลยีของการใช้เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปทดแทนเลนส์ธรรมชาติเดิมที่เสียไป มีชนิดที่ดูได้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล รวมทั้งเลนส์ชนิดที่แก้สายตาเอียง ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้ร่วมพิจารณาเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย


แผ่นพับ ต้อกระจก