โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีการระบาดกระจายเป็นวงกว้างตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบสองปี ข้อมูลด้านการแพทย์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแพร่กระจายของเชื้อ พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรค อาการและอาการแสดงของโรค การป้องกันการติดเชื้อ การรักษา และความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสนี้ โดยหลังจากที่ผู้ป่วยบางรายหายจากโควิด-19 แล้ว พบว่ายังมีกลุ่มอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อาการทางสมองและระบบประสาท
อาการและอาการแสดงของโรคโควิด-19 คล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว และอาจมีบางอาการที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ เช่น การไม่ได้กลิ่นหรือการไม่ได้รส อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อสามารถมีอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายจากโรคแล้วได้ด้วย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านั้นเรียกว่า ภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) นั้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น COVID Long Hauler, Post – acute COVID syndrome, ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด เป็นต้น อุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้แตกต่างกันไปตามการศึกษาและงานวิจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งขึ้นกับอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ COVID-19 ทำให้มีรายงานอุบัติการณ์ของภาวะนี้ตั้งแต่ 32% จนถึง 96% ที่ 90 วันหลังการติดเชื้อ โดยข้อมูลล่าสุดของการทบทวนหลักฐานจากข้อมูลทางสถิติ (Meta – Analysis) ที่มีผู้ป่วย COVID-19 ประมาณ 10,000 คน พบว่า หลังจากติดเชื้อ 60 วัน มีผู้ป่วยถึง 73% ที่ยังคงมีอาการแม้ว่าจะรักษาโรคจนหายแล้ว (โดยการตรวจไม่พบสารพันธุกรรมไวรัส)
นิยามของกลุ่มอาการโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย โดยมีอาการและอาการแสดงในแต่ละระบบที่แตกต่างกันไปดังนี้
อีกหนึ่งในกลุ่มอาการของโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ที่พบได้บ่อย คือ อาการในส่วนของระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) ภาวะสับสน (Delirium) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Dysfunction) ภาวะเครียดภายหลังภยันตรายหรือพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) อาการซึมเศร้า กลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำ และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) เป็นต้น
ภาวะสมองล้า (Brain fog) คือ ภาวะที่สมองมีการทำงานลดลง โดยส่งผลให้การคิดและตัดสินใจช้าลง การวางแผนและแก้ปัญหาลดลง รวมถึงการลดลงของสมาธิ (Attention) บางคนอาจเป็นมากจนส่งผลให้ลืมความจำระยะสั้น หรือทำให้ไม่สามารถทำงานที่เคยทำเป็นประจำได้
ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ มี 2 ภาวะที่มักพบ ได้แก่
มีกลุ่มอาการหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 21 ปี โดยเป็นภาวะที่พบได้หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 2 – 8 สัปดาห์ เรียกว่า กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children, MIS-C, โรคมิสซี) ซึ่งจะมีการอักเสบในหลายระบบและมีอาการต่าง ๆ คล้ายกับภาวะ Long COVID ได้
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2564 มีการรวบรวมข้อมูลและตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์โดยระบุว่า พบภาวะนี้ในผู้ใหญ่เช่นกัน เรียกว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Adult (MIS-A) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบทั่วร่างกายในหลาย ๆ ระบบ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ใจสั่น แน่นอก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะ รวมถึงความผิดปกติจากการตรวจเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ค่าการอักเสบสูงขึ้น ค่าการบาดเจ็บของหัวใจสูงขึ้น เป็นต้น
สาเหตุของโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) นั้นยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด แต่จากหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันคาดการณ์ว่า ภาวะนี้น่าจะเกิดจาก 3 สาเหตุที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
ในแง่ของปัจจัยเสี่ยงของการเกิด Long COVID มีรายงานเบื้องต้นว่า เพศหญิง การมีโรคประจำตัวหอบหืด และช่วงอายุ 35 – 49 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับตัวโรคพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลายระบบในช่วงที่มีการติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Long COVID ดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อมูลจากผุ้ป่วยจำนวนไม่มาก หากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีเป็นหลักล้านคน ดังนั้นอาจจะต้องรอการศึกษาในอนาคตที่มีการเก็บรวมรวมคนไข้ได้มากกว่านี้ ถึงจะสรุปได้แน่ชัดว่าปัจจัยเสี่ยงของภาวะดังกล่าวมีอะไรบ้าง
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า การมีโรคประจำตัวทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) แต่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว หากมีการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบและทำให้อาการของตัวโรคแย่ลงเร็วกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อมูลพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือทำให้อาการโรคเดิมแย่ลงได้มากกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดอื่น
โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง) โรคสมองเสื่อม และโรคทางจิตเวช (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล) มากกว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากขึ้น หากมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive Care Unit, ICU) หรือมีภาวะสับสน (Delirium) ขณะรักษาในโรงพยาบาล
ดังนั้นไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทมาก่อนหรือไม่ การติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทั้งหมด หากไม่มีโรคประจำตัวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ หลังการติดเชื้อ แต่หากมีโรคประจำตัวมาก่อน การติดเชื้อจะทำให้การดำเนินโรคนั้นแย่ลงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ในภาวะ Long COVID ตามมาด้วยเช่นกัน และถึงแม้ว่าการมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่าประชากรโดยทั่วไป แต่การที่โรคประจำตัวแย่ลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นย่อมส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ส่วนใหญ่การรักษาโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ยังไม่มีการรักษาจำเพาะต่อภาวะนี้ อย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากเพื่อค้นหาการรักษา รวมถึงแนวทางในการป้องกันภาวะนี้ ซึ่งคงต้องรอติดตามผลการศึกษาดังกล่าวต่อไป สิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้เพื่อป้องกันภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) คือการป้องกันตัวเองให้ไม่เป็นโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
อ้างอิงจาก
ภาวะ Long COVID อาการพึงระวังหลังป่วยโควิด : กรมควบคุมโรค https://www.facebook.com/100068069971811/videos/1085737355552486
ปัญหา Long COVID ส่งผลกระทบกับผู้ติดเชื้อ : Thai PBS https://www.facebook.com/ThaiPBS/videos/4457818090986732
LONG COVID มีผลแค่ไหนกับโรคสมองและระบบประสาท : Bangkok Hospital https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/long-covid-affect-brain-and-nervous-system-diseases