สัญญาณไม่มีเสียงเตือน ของโรคที่พบบ่อยในผู้สูงวัย
สัญญาณเตือนที่ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพ
ระบบต่างๆ ในร่างกายผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาการแสดงของโรคหรือปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่างไม่ชัดเจนตรงไปตรงมา และก็เป็นธรรมชาติของผู้สูงอายุเช่นกัน ที่จะพยายามอดทนต่อความไม่สบายตัวเหล่านั้น เพราะคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดและไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ อย่างมากก็แค่ “บ่น” ให้ฟังว่าไม่สบายตรงโน้นไม่สะดวกตรงนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าหลายๆ ครั้งการบ่นย้ำๆ ของผู้สูงวัย อาจหมายถึงกำลังมีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่เริ่มบั่นทอนความสุขในการใช้ชีวิต และทราบหรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วปัญหาเหล่านั้นสามารถแก้ไขหรือบรรเทาได้หากจัดการอย่างถูกวิธี
สัญญาณเตือนการไม่เห็น
ตาเป็นอวัยวะสำคัญในการรับรู้สิ่งต่างๆ และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยปกติแล้วความเสื่อมของส่วนประกอบของดวงตาเริ่มเกิดตั้งแต่วัยกลางคนและจะเสื่อมเร็วขึ้นถ้ามีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือถ้าใช้สายตาไม่ถูกวิธี ปล่อยให้ตาแห้งเกินไป โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น
- ต้อกระจก (Cataract)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration)
- เบาหวานขึ้นตา และมีเลือดออกในจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy, Retinal Hemorrhage)
- วุ้นในตาเสื่อมจนมีภาวะจอประสาทตาหลุดลอก (Retinal Detachment)
ปัญหาการมองเห็นทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น หลายๆ ท่านต้องเลิกทำงานอดิเรกเพราะมองไม่ชัด ไม่สามารถผ่อนคลายด้วยการเล่นโซเชียล อ่านหนังสือ ดูทีวี หรือขับรถเที่ยวได้ การที่ผู้สูงอายุเริ่มมองไม่ชัด และสูญเสียกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เป็นอาการที่ไม่ควรละเลย เพราะความเสื่อมของตาเป็นภาวะที่รักษาได้ และผลการรักษาจะยิ่งดีถ้าตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ
สัญญาณเตือนการไม่ได้ยิน
ผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยบ่นว่า หูไม่ได้ยิน ก็เพราะว่าไม่ได้ยินเลยไม่รู้ว่ามีเสียง แต่อาจจะเริ่มเปิดทีวีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ พูดเสียงดังๆ เวลาคุยกันต้องให้พูดซ้ำๆช้าๆ หรือต้องคอยอ่านปากว่าพูดว่าอะไร หลายๆ ท่านอาจจะเลิกคุยไปเลยเพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะทำให้ขาดการเข้าสังคม ซึมเศร้า หรือสมองไม่ถูกกระตุ้นให้คิด ทำให้สมาธิสั้น สมองเสื่อมลงได้
- ภาวะเส้นประสาทหูเสื่อม แก้ไขได้ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งปัจจุบันรูปลักษณ์จะดูน่าใช้ และมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อก่อนมาก ผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องช่วยฟังอยู่แล้วแต่ยังฟังไม่ชัด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กเครื่องสม่ำเสมอ และปรับให้เข้ากับเส้นประสาทของแต่ละคน
- โรคติดเชื้อเรื้อรังในหูชั้นกลาง ของผู้สูงอายุ บางครั้งอาการไม่ชัดเจน บางคนไม่ปวดหู แต่มีหูอื้อ มีเสียงวิ้งๆ ในหู หรือมีเวียนหัวบ้านหมุน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี อาจมีการติดเชื้อราในช่องหู หรือในโพรงไซนัสได้โดยไม่รู้ตัว
- ภาวะขี้หูอุดตัน พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ชอบใช้ไม้พันสำลีปั่นหู สามารถมาพบแพทย์ให้ดูดออกปีละ 1-2 ครั้ง จะทำให้ได้ยินชัดขึ้น
สัญญาณเตือนการรับรสที่ลดลง
เมื่อผู้สูงวัยบ่นว่ากินอะไรก็ไม่อร่อย ซื้อของกินอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ หวานไป เค็มไป แข็งไป ปัญหารับประทานอาหารไม่อร่อยของผู้สูงอายุส่วนมากไม่ได้เกิดจากความไม่ถูกปากอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากปัญหาทางกายที่ซ่อนอยู่ เช่น
- มีฟันผุ เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือรากฟันติดเชื้อ ทำให้ปวดฟันโดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหาร
- ฟันปลอมไม่พอดี หลุดบ่อย หรือกดเหงือกเป็นแผล
- ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้น้ำลายน้อยลง ลิ้นรับรสชาติไม่ปกติ และเบื่ออาหารได้
- มีปัญหาการย่อยอาหาร มีแผลในกระเพาะหรือลำไส้
- มีนิ่วในถุงน้ำดีทำให้ท้องอืดง่ายๆ
- มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ไม่อยากอาหารแต่น้ำหนักขึ้น
- มีภาวะซึมเศร้าจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ จากการไม่มีสังคม หรือความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
- สุดท้ายแล้วหากไม่มีปัญหาข้างต้น และเบื่ออาหารจนน้ำหนักลดอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็เป็นสัญญาณที่
- ควรจะพาผู้สูงอายุมาตรวจหาโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคเนื้องอกหรือมะเร็งของอวัยวะภายใน
สัญญาณเตือนการขับถ่ายที่ผิดปกติ
ถึงแม้กระเพาะอาหารและลำไส้ของผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มที่จะขยับตัวช้าลง แต่การที่ถ่ายลำบากจนกระทบกับการรับประทานหรือการใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่เรื่องปกติ สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการท้องผูกเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยลง (เพราะเคี้ยวไม่ได้) การดื่มน้ำน้อยลง หรือการขยับเคลื่อนไหวน้อยลง (เพราะปวดขา หรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง) ซึ่งแก้ไขด้วยการทานยาระบายและการปรับพฤติกรรม แต่ก่อนที่จะสรุปว่าเป็นเพราะตัวผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องตรวจหาโรคทางกระเพาะอาหารและลำไส้ที่จำเป็น โดยเฉพาะในผู้ที่อยู่ๆ ก็มีการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม มีท้องผูกสลับท้องเสีย มีปวดบิดหรือปวดหน่วงทวารหนักมากผิดปกติเวลาขับถ่าย มีถ่ายอุจจาระสีดำกลิ่นเหม็นคาว หรือมีถ่ายเป็นเลือดสด หรือเป็นมูกปนเลือด
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากเจอในระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ และปัจจุบันสามารถป้องกันได้ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อคัดกรองโรคมะเร็ง ทำการตัดติ่งเนื้อที่น่าสงสัยก่อนที่จะลุกลาม
- ภาวะริดสีดวงทวารและแผลเรื้อรังบริเวณหูรูดทวารหนัก ทำให้มีอาการเกร็งเจ็บเวลาอุจจาระ และจะกลายเป็นหูรูดเกร็งปิด เบ่งอุจจาระไม่ได้ตามมา หากปล่อยไว้เรื้อรังอาจเกิดการติดเชื้อ เป็นฝีที่รอบๆ รูทวารหนักได้
- การต้องคอยมองหาห้องน้ำในทุกๆ ที่ที่ไป หรือการต้องระวังไม่ดื่มน้ำเยอะเพราะกลัวกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นความคับข้องใจของผู้สูงอายุ สุดท้ายอาจจะตัดปัญหาด้วยการไม่ออกไปไหนไกลๆ เพราะไม่อยากทำให้ลูกหลานเสียเวลาเที่ยว ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (incontinence) มีสาเหตุทางกายที่แก้ไขได้ เช่น
- เบาหวานขึ้นสูง ทำให้เส้นประสาทควบคุมการขับถ่ายไม่ทำงาน แก้ไขได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ และฝึกวินัยในการเข้าห้องน้ำ ไม่ใช่รอจนปวดมากจึงจะเข้า
- มดลูก และ/หรือผนังช่องคลอดหย่อน พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทอง ที่มีลูกหลายคน หรือมีน้ำหนักตัวมากมีแรงดันในช่องท้องสูง ความรุนแรงของภาวะนี้มีตั้งแต่อาการปัสสาวะเล็ด จนถึงมีส่วนของปากมดลูกโผล่ยื่นออกมา หากรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์แต่เนิ่นๆ จะสามารถแก้ไขให้กลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้
- ต่อมลูกหมากโต นอกจากปัสสาวะบ่อยแล้ว คุณพ่อ คุณตา จะยังมีอาการปัสสาวะไม่สุด ไม่พุ่งเป็นลำ ปัสสาวะออกช้าหรือต้องเบ่ง กลั้นไม่ได้มีปัสสาวะหยดเปื้อนกางเกง รวมไปถึงตื่นปัสสาวะกลางคืนเกือบทุกชั่วโมง ภาวะนี้เป็นเรื่องปกติของชายวัยใกล้เกษียณ ซึ่งก็สามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ไม่ว่าจะด้วยการปรับวินัยในการปัสสาวะ การใช้ยา หรือการลดขนาดต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
สัญญาณเตือนความเสื่อมโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ
หลายคนคงอยากพาพ่อแม่เดินชอปปิงในห้างใหญ่ๆ ไปเที่ยวสถานที่สวยๆ หรือพาท่านขึ้นเขาไปตั้งแคมป์ดูทะเลหมอก แต่ทุกแผนก็ต้องถูกเบรกด้วยคำว่า “ไปไม่ไหว ปวดขา” อาการปวดขาอาจเกิดจากแค่ไม่อยากขยับตัว แต่ก็มีปัญหาทางกายอีกหลายอย่างที่มากับกับอาการปวดขา และการเดิน เช่น
- โรคข้อเสื่อมที่ตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า อาการข้อบวมอักเสบจะเห็นชัดเจน อาการปวดจะทำให้เดินลำบาก แต่ถ้าอยู่เฉยๆ นานเกินไปโดยเฉพาะในห้องที่อากาศเย็น ก็จะปวดตึงบริเวณข้อได้
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม สังเกตได้จากอาการปวดเมื่อยเอว นั่งนานๆ ไม่ได้ อาจมีกระดูกสันหลังทรุดทับเส้นประสาท เวลาเดินจะมีอาการปวดแปล๊บคล้ายไฟฟ้าช็อตจากเอวด้านหลังลงไปถึงน่อง ถ้าเป็นมากอาจมีอาการชาขา ขาอ่อนแรง หรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระลำบาก
- ภาวะกล้ามเนื้อน้อยและไม่แข็งแรง (sarcopenia) พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะอ้วน เกิดจากการที่ไม่ได้บริโภคโปรตีนอย่างเพียงพอ (ผู้สูงอายุส่วนมากมีแนวโน้มจะรับประทานเนื้อสัตว์หรือไข่ลดลง แต่รับประทานคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น) และขาดการออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เมื่อแขนขาไม่ค่อยมีแรง ทำให้ไม่อยากเดิน ภาวะนี้สามารถแก้ไขได้ถ้าได้รับการจัดอาหารและมีผู้ดูแลการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ซึ่งในระยะยาวจะช่วยทำให้สามารถควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน ได้ดีขึ้นด้วย
- ยาขับปัสสาวะบางตัวมีผลข้างเคียงทำให้สารโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง ยาลดไขมันบางชนิดมีผลข้างเคียงคือปวดเมื่อยแขนขา หรือยาบางกลุ่มมีปฏิกิริยาเสริมฤทธิ์กัน ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบได้ ปัญหานี้ป้องกันได้โดยแจ้งรายการยาทุกชนิดที่ใช้ ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ อาจให้แพทย์ประจำตัวช่วยเช็กดูปฏิกิริยาของยา และไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ภาวะกระดูกพรุน และมีกระดูกสันหลังทรุดโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่มีกระดูกพรุนมากๆ อาจมีกระดูกหักได้จากการกระแทกเบาๆ บางครั้งอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าไปกระทบกระแทกตอนไหน รู้อีกทีคือบ่นว่าปวดหลัง ไม่ยอมลุกไม่ยอมเดิน หากผู้สูงอายุไม่ยอมลุกจากเตียง อาจไม่ใช่ความเสื่อมตามอายุ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
สัญญาณเตือนความเสื่อมของหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือด
หลายครั้งที่ผู้สูงอายุไม่สามารถแยกได้ว่าอาการที่เป็นคือ ปวด หรือ วิงเวียน หรือ แน่นท้องแล้วคลื่นไส้ หรือ ใจสั่น/ใจหวิวๆ หรือ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ส่วนมากผู้สูงอายุจะแก้ปัญหาด้วยการทานยาแก้เมารถเมาเรือ ซึ่งยาแก้เวียนบางตัวมีผลข้างเคียงทำให้เบลอ สับสน ความจำไม่ดี หรือเซล้มได้ การซักประวัติและตรวจร่างกายผู้สูงอายุที่มาด้วยอาการ “เวียน” จึงต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะมีอวัยวะหลายระบบที่ทำให้มีอาการ เวียน หรือ คล้ายจะเวียน และการรักษาก็ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น
- ความดันโลหิตขึ้นสูงหรือลดต่ำเกินไป หรือมีความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็วขณะเปลี่ยนจากท่านอนเป็นนั่ง หรือนั่งเป็นยืน
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วไป หรือช้าไป เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation), สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง (heart block)
- โรคหลอดเลือดหัวใจ หลายครั้งที่ผู้สูงอายุอาจไม่ได้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนคนวัยทำงาน แต่อาจมาด้วยอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เพลีย วิงเวียน จุกแน่นลิ้นปี่จนหายใจลำบาก
- มีแคลเซียมเกาะในประสาทหูชั้นในแล้วเกิดหลุดลอยออกไปรบกวนการนำสัญญาณประสาท ทำให้เกิดอาการ “บ้านหมุน” แบบที่เรียกกันติดปากว่า น้ำในหูไม่เท่ากัน การพักผ่อนน้อย ความเครียด การออกแรงหนักๆ กระตุ้นในเกิดแคลเซียมหลุดได้ แต่อาการดังกล่าวสามารถควบคุมและรักษาได้เช่นกัน
- ภาวะซีด หรือโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก (ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร) ขาดวิตามิน B12 โฟเลท (รับประทานมังสวิรัติ 100%, มีภาวะที่ดูดซึมวิตามิน B12 ไม่ได้ ที่เรียกว่า Pernicious anemia) จะทำให้หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เหนื่อยง่าย หายใจหอบแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจทำงานหนัก เกิดหัวใจล้มเหลวได้
- โรคเส้นเลือดสมองตีบ จะต้องสงสัยในผู้สูงอายุที่มีอาการเวียนหัวรุนแรงเฉียบพลัน (มักจะมีบ้านหมุนร่วมด้วย) และมีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น แขนขาชา / อ่อนแรง ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายลำบาก ทรงตัวไม่ได้ทั้งท่านั่งและท่ายืน หรือเดินเซ หรือหากมีแต่อาการบ้านหมุนอย่างเดียวแต่เป็นรุนแรง เป็นนาน ไม่ตอบสนองต่อยาแก้เวียน ควรรีบพามาโรงพยาบาล
- ยาหลายๆ ตัวมีผลข้างเคียงทำให้มึนศีรษะ ยิ่งมียาทานหลายตัว ความเสี่ยงที่จะเจอยาที่มีผลข้างเคียงเหมือนกัน หรือเสริมฤทธิ์กัน ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องให้ผู้สูงอายุแจ้งรายการยาที่ใช้กับคุณหมอทุกท่าน ทุกครั้งที่ไปพบ และหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง