วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีดทุกปี
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ในการผลิตวัคซีนแต่ละปี จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันร่างกายจากไข้หวัดใหญ่ เราจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
ส่วนใครที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ต้องเว้นระยะก่อนฉีด 1 เดือน
ในประเทศไทย พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถฉีดซ้ำได้ภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
หลังจากได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว 1-4 วัน จากนั้นจะเกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มักมีอาการสำคัญที่เด่นชัด เช่น
- มีไข้สูง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก
- มีน้ำมูก และไอ
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2564 ในประเทศไทย
ในประเทศไทย สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เมื่อปี 2564 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 27ตุลาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศถึง 9,314 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 14.05 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และในกลุ่มจะพบผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันมากถึงร้อยละ 48 ที่อาจจะพบปอดบวม หรือสภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะในคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง และผู้สูงอายุ
ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
- เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย สามารถติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบหรือปอดบวม
- หลอดเลือดอักเสบมากขึ้น เพิ่มโอกาสไขมันในเส้นเลือดแตกไปอุดตันเส้นเลือด จึงเพิ่มความเสี่ยงการกำเริบของหัวใจและหลอดเลือด
- เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้โรคปอด โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพองกำเริบจนมีอาการรุนแรงมากขึ้น
- เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญ คนเป็นโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้อาการของเบาหวานรุนแรงขึ้น
- ภาวะไข้สูง ร่างกายเกิดการเสียน้ำ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ
ใครบ้าง? ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
เพราะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจเกิดอาการรุนแรงหรือได้รับผลแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้สูง รวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จึงได้แก่
- เด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย โรคตับ มะเร็ง เบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่มี BMI มากกว่า 35 หรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- หญิงมีครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ
- ผู้ที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และในประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 70 ถึง 90%
- ลดการติดเชื้อในหูชั้นกลางในเด็กได้ 36%
- ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี ได้ 60%
- ลดอัตราการตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี ได้ 70 ถึง 80%
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยเบาหวาน
- ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 79%
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 56%
- ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 28%
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 75%
- ลดการเกิดภาวะของหัวใจและหลอดเลือดได้ 30%
- ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ 24%
ดาวโหลดแผ่นพับ คลิก