มะเร็งรังไข่ คือ การที่มีเซลล์มะเร็งไปเจริญเติบโตอยู่ในรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในสตรีที่ทำหน้าที่ในการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ คุณหมอจะต้องทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูกส่วนใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้นๆ
คนส่วนใหญ่จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะในช่องก่อนมีประจำเดือน หรือหลังจากกินอาหารมื้อใหญ่ แต่หากท้องอืดท้องเฟ้อบ่อย หรือท้องอืดทุกวัน อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่ โดยอาการอาจมีตั้งแต่ท้องอืดธรรมดาไปจนถึงท้องอืดรุนแรง และอาการอาจแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
การปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ลักษณะคล้ายปวดประจำเดือน ไม่ว่าจะปวดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดทั่วบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นอาการที่พบบ่อยใน มะเร็งรังไข่ ระยะแรก โดยปกติผู้หญิงจะมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน แต่หากเลยช่วงนั้นไปแล้ว อาการปวดยังคงอยู่ และรู้สึกเหมือนมีแรงกดบริเวณอุ้งเชิงกราน คุณควรไปพบคุณหมอ
ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่หลายคนให้ข้อมูลว่า พวกเธอรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังจากกินอาหาร และอาจมีความรู้สึกนี้ระหว่างมื้ออาหาร รวมถึงอาจมีแก๊สและอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย นอกจากนี้ บางคนอาจน้ำหนักลดโดยที่ไม่ได้พยายามลดน้ำหนัก ซึ่งถือเป็นอาการของโรคมะเร็งรังไข่ที่รุนแรงขึ้น
อาการปัสสาวะบ่อย หรือเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาจเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น กระเพาะปัสสาวะถูกเนื้องอกกดทับ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดจากเนื้องอกบางประเภท
การขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่สัญญาณที่สำคัญที่สุดของโรคมะเร็งลำไส้ แต่ยังเป็นอาการของ มะเร็งรังไข่ ด้วย เมื่อการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย เนื้องอกในลำไส้และในช่องท้อง อาจเป็นเหตุให้ลำไส้อุดตัน จนทำให้มีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสียรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ความเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือภาวะปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ ยังเป็นอาการที่พบบ่อยของภาวะอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โดยปกติแล้วจะปวดข้างเดียว ซึ่งอาการปวดจะคล้ายกับการปวดประจำเดือน และอาจเกิดขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ การปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ไม่เพียงแค่เป็น สัญญาณและอาการของมะเร็งรังไข่ แต่ยังเป็นเหตุให้อารมณ์และความสัมพันธ์แย่ลงได้ด้วย
อาการปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณหลังส่วนล่างหรือหลังด้านข้าง ช่วงระหว่างซี่โครงและสะโพก โดยจะรู้สึกเหมือนปวดประจำเดือน ทั้งที่ไม่ได้ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง
งานวิจัยพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคมะเร็งบางชนิด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หมายถึง น้ำหนักลดลง 5% ของน้ำหนักตัวภายในเวลา 6-12 เดือน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดขึ้นเพราะรู้สึกอิ่มเร็ว ไม่อยากอาหาร ดังนั้น ถ้าน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบคุณหมอ
ความอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบบ่อย โดยความอ่อนเพลียจากโรคมะเร็ง หรือโรค มะเร็งรังไข่ มีแนวโน้มว่าจะแตกต่างจากความเหนื่อยในชีวิตประจำวัน เนื่องจากความอ่อนเพลียจะไม่ดีขึ้นด้วยการนอนหลับอย่างเพียงพอ หรือการดื่มกาแฟ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งสามารถทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลีย
การตรวจมะเร็งรังไข่เพียงวิธีเดียวอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเนื้อร้ายมะเร็งหรือไม่ ดังนั้นแพทย์อาจต้องอาศัยการตรวจหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้
การตรวจภายในเป็นวิธีแรกๆ ที่แพทย์อาจใช้ในการตรวจคัดกรอง เนื่องจากสามารถมองเห็นความผิดปกติภายนอกได้ชัดเจน สามารถคลำก้อนเนื้อด้านในและกดดูว่ามีอาการเจ็บหรือไม่ ช่วยให้ง่ายต่อการวินิจฉัย นอกจากการตรวจภายในจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ไหม ยังสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกันได้อีกด้วย
การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือการใช้คลื่นอัลตราซาวด์สร้างภาพอวัยวะภายในขึ้นมาเพื่อดูความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อ ซีสต์ และถุงน้ำ
เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography scans: CT scans) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ปล่อยลงไปในช่องท้อง เพื่อสร้างภาพระหว่างช่องท้องกับกระดูดเชิงกรานขึ้นมาให้แพทย์ตรวจสอบ
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging: MRI) เป็นการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายเช่นกันกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ MRI จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุ MRI สามารถแยกระหว่างก้อนเนื้อที่ผิดปกติกับเนื้อเยื่อของร่างกายได้ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ในระยะแรกๆ (ขนาดเนื้องอก 0.5 เซนติเมตรขึ้นไป) โดยปกติ เครื่อง MRI สามารถใช้ตรวจความผิดปกติของอวัยวะภายในได้หลายอย่าง เช่น สมอง หัวใจ ปอด ช่องท้อง กระดูกสันหลัง ตับ ไต รังไข่ มดลูก ข้อต่างๆ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่หลายคนอาจมีโปรตีน CA-125 อยู่ในเลือดจำนวนมาก การตรวจพบโปรตีนชนิดนี้จึงอาจเป็นข้อมูลประกอบคำวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ ส่วนมากโปรตีนชนิดนี้จะสูงในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะแรกๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นมะเร็งรังไข่จะมีโปรตีนชนิดนี้สูง โปรตีนชนิดนี้อาจพบได้ในคนที่กระดูกเชิงกรานอักเสบด้วยเช่นกัน ดังนั้นการตรวจพบโปรตีนชนิดนี้ยังไม่อาจยืนยันได้ 100% ว่าเป็นมะเร็งรังไข่
การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเก็บเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อไปเข้าห้องปฎิบัติการเพื่อหาสัญญาณของโรคมะเร็งโดยการตรวจชิ้นเนื้อมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
ทั้งนี้ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง หากไม่ทำการรักษาเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปที่บริเวณช่องท้องหรืออวัยวะอื่นในร่างกายได้